ภาษีป้าย ต้องจ่ายมั๊ย

 

 

 

ปัจจุบันป้ายต่างๆ เป็นเครื่องมือหากิน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นป้ายไฟ ป้ายไม่มีไฟ ป้ายมีรูปหรือมีอักษร เป็นต้นแต่ก่อนที่เราจะสั่งทำป้ายต่างๆ เรามาทำความรู้จักภาษีป้ายแต่ละประเภท ป้ายไหนใช้ได้ฟรี! ป้ายไหนต้องเสียภาษีไปดูกันเลย

 

 

 

 

 

ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น

 

 

 

 

ป้ายที่ต้องเสียภาษี

- ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมาย
- ป้ายเพื่อหารายได้ เช่น ป้ายโฆษณาต่างๆ ด้วยอักษร ภาพ
หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก

 

 

 

 

ป้ายที่ยกเว้นภาษี

- ป้ายที่ติดในอาคาร
- ป้ายของทางราชการ
- ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดเป็นครั้งคราว
- ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน
- ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ

 

 

 

 

อัตราภาษีป้าย ประจำปี 2567

ป้ายประเภท 1 (ก) อักษรไทยล้วน ที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ (ป้ายไฟวิ่ง) อัตรา 10 บาท/500 ตร.ซม.

(ข) อักษรไทยล้วน (ป้ายติดทั่วไป) อัตรา 5 บาท/500 ตร.ซม.

ป้ายประเภท 2 (ก) อักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และหรือปนรูปภาพ และหรือปนเครื่องหมายอื่น อัตรา 52 บาท/500 ตร.ซม. ที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ (ป้ายไฟวิ่ง)

(ข) อักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และหรือปนรูปภาพ และหรือปนเครื่องหมายอื่น อัตรา 26 บาท/500 ตร.ซม. (ป้ายติดทั่วไป)

ป้ายประเภท 3 (ก) ป้ายไม่มีอักษรภาษาไทย และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ (ป้ายไฟวิ่ง) อัตรา 52 บาท/500 ตร.ซม.

(ข) ป้ายไม่มีอักษรภาษาไทย และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ (ป้ายติดทั่วไป) อัตรา 50 บาท/500 ตร.ซม.

ป้ายประเภท 4 ป้ายใดเมื่อคำนวณแล้ว จำนวนเงินต่ำกว่า 200 บาท ให้เสีย 200 บาท

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนการยื่นเสียภาษี
ให้ผู้มีหน้าที่ภาษีป้ายสามารถขอรับแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ได้ที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต โดยกรอกรายการในแบบ ภ.ป.๑ ตามความเป็นจริงให้ครบถ้วน ลงลายมือชื่อของตนพร้อมวัน เดือน ปี ส่งคืนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ป้ายนั้นได้ติดตั้ง หรือแสดงไว้ ทั้งนี้จะนำส่งด้วยตนเอง มอบหมายให้ผู้อื่นไปส่งแทนหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้
1. ขอรับแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1)
2. กรอกรายการในแบบ ภ.ป.1 ตามความเป็นจริงให้ครบถ้วน
3. ลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ส่งคืนพนักงานเจ้าหน้าที่

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการยื่นแบบ
กรณีป้ายใหม่ ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบเสียภาษี พร้อมสำเนาหลักฐาน และลงลายมือชื่อรับรอง ความถูกต้อง ได้แก่
1. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน
2. ใบทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์
3. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย (ถ้ามี)
4. หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)
5. ใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน
6. อื่น ๆ

 

 

 

 

ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีป้าย

1. การยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีป้าย (ภ.ป.1)
ผู้มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีป้าย ต้องมากรอกแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ที่ป้ายตั้งอยู่ โดยจะต้องยื่นแบบเพิ่มขอประเมินภาษีภายในเดือนมีนาคม ของทุกปีหรือแสดงรายการภายใน 15 วันนับแต่วันติดตั้งป้าย

2. การตรวจสอบ และรับแบบยื่น (ภ.ป.1)
เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเขตรับแบบยื่น (ภ.ป.1) จากประชาชนทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด

3. การแจ้งประเมินภาษีเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 2 กรณี ดังนี้
3.1  กรณีชำระภาษีป้ายในวันยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย
3.2 ไม่ชำระในวันยื่นแบบพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งประเมิน ภ.ป.๓

4. การชำระเงินค่าภาษีสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
4.1 การชำระค่าภาษีทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องชำระภายใน 15 วันนับแต่วันรับหนังสือแจ้งการประเมิน ต้องมาชำระเงินที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยสามารถชำระเงินค่าภาษีทั้งหมดด้วยเงินสด เช็ค หรือธนาณัติโดยวันที่จ่ายเช็ค วันที่โอนเงินทางธนาณัติจะถือเป็นวันชำระเงินโดยไม่มีการคิดค่าเพิ่ม
4.2 การชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย ขั้นตอนกรณีชำระที่ธนาคารกรุงไทย
- เจ้าพนักงานแจ้งประเมินค่าภาษีและออกใบแจ้งหนี้ให้ผู้เสียภาษี
- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับใบแจ้งหนี้ค่าภาษี
- นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ รอรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน

4.3 การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย

4.4 การชำระภาษีผ่านทาง Internet
- สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Online กรณีนิติบุคคลที่ www.ktb.co.th
- ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่ http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และ Password
- เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ และใส่ Username / Password ของธนาคารกรุงไทยที่สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน

หมายเหตุ : เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษีรายการละ 10 บาท

 

 

 

 

 

ข้อกฎหมายและบทลงโทษ

1. หากผู้ประกอบการจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
2. ถ้าผู้ประกอบการจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
3. ผู้ใดไม่แจ้งรับโอนป้าย หรือไม่แสดงรายการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบกิจการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท ระยะเวลาการให้บริการโดยประมาณ 10 นาที ต่อรายไม่รวมขั้นตอนการตรวจสอบสวน (ถ้ามี)

 

ที่มา : สำนักงานเขตดินแดง / กรมสรรพากร / กระทรวงมหาดไทย โดยงานประชาสัมพันธ์
 

Visitors: 117,730